วันอาทิตย์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2552

สาระสำคัญ

1. วัสดุกราฟิค เป็นทัศนวัสดุที่ใช้เพื่อสื่อความหมายในการเรียนการสอน โดยการวาด/เขียน
2. การแบ่งประเภทของวัสดุกราฟิค ขึ้นอยู่กับลักษณะข้อมูล ที่จะนำเสนอ โดยมีการใช้สัญลักษณ์ ภาพ แตกต่างกันไปในแต่ละประเภท เพื่อให้ผู้ดูเกิดความคิดรวบยอดได้ถูกต้องและรวดเร็ว
3. การใช้รูปภาพในการเรียนการสอน ช่วยทำให้ผู้เรียนเข้าใจได้ง่ายกว่าการบรรยายหรือการใช้ภาษา ประสิทธิภาพของการเรียนโดยใช้ภาพขึ้นอยู่กับลักษณะของภาพที่ผู้เรียนชอบดู
4. การเลือกรูปภาพประกอบการเรียนการสอน ควรมีหลักเกณฑ์ประกอบการพิจารณาการเลือก
5. การสร้างภาพหรือใช้ภาพเพื่อประกอบการสอน มีวิธีการหลายวิธี แต่ละวิธีจะได้ผลดีต้องอาศัย เครื่องมือ วัสดุ และทักษะของผู้ผลิตเป็นองค์ประกอบ
6. การเก็บรักษารูปภาพ นอกจากจะช่วยทำให้ภาพมีความคงทนแล้ว ยังสามารถนำ มาใช้ในการนำเสนอได้อย่างเหมาะสม วิธีการเก็บรักษาภาพ มีทั้งการผนึกภาพ และการเคลือบผิวภาพ

จุดมุ่งหมายเชิงพฤติกรรม

1. อธิบายความหมาย และจำแนกประเภทของวัสดุกราฟิคได้ถูกต้อง
2. ยกตัวอย่างของวัสดุกราฟิคที่เหมาะสมกับลักษณะของข้อมูลได้อย่างถูกต้อง
3. อธิบายลักษณะรูปภาพที่ผู้เรียนชอบดูได้ถูกต้อง
4. จำแนกภาพที่ผู้เรียนชอบดูได้ถูกต้อง
5. ขยายภาพโดยวิธีการขยายจากตารางได้ถูกต้อง
6. เมื่อกำหนดวัสดุ และอุปกรณ์ในการเก็บรักษารูปภาพมาให้สามารถปฏิบัติการ และ/ หรือ อธิบายขั้นตอนในการเก็บรักษารูปภาพได้อย่างน้อย 1 วิธี

ความหมายของวัสดุกราฟิค

วัสดุกราฟิค (Graphic Materials) หมายถึง ทัศนวัสดุที่ใช้สื่อข้อเท็จจริง และความคิดที่แสดงออกมาอย่างแน่ชัดโดยการวาด/เขียน ภาพ สัญลักษณ์ คำพูด และรูปภาพ บนแผ่นกระดาษ หรือวัตถุพื้นผิวเรียบ เพื่อเป็นสื่อกลางในการถ่ายทอดความรู้ระหว่างครูกับนักเรียน
การวาด/เขียน ภาพ

: การเขียนแผนภาพ สเก็ตซ์ภาพ แผนสถิติ การ์ตูน สัญลักษณ์

: การออกแบบโลโก้ เครื่องหมาย คำพูด

: การสร้างตัวอักษรเพื่อทำไตเติ้ล ชื่อป้าย คำอธิบาย รูปภาพ

: ภาพสเก็ตซ์ ภาพถ่าย ภาพเขียน ภาพพิมพ์

ประเภทของวัสดุกราฟิค

วัสดุกราฟิคที่ใช้ในการเรียนการสอน แบ่งออกเป็นประเภทต่าง ๆ ดังนี้
4.2.1 แผนสถิติ (Graphs) ใช้นำข้อมูลที่เป็นตัวเลข เพื่อแสดงความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณ และเวลา หรือความสัมพันธ์ของข้อมูล 2 ชนิด แบ่งเป็น
1) แผนสถิติแบบเส้น ใช้เส้นแสดงข้อมูลที่ละเอียดถูกต้องรวดเร็วกว่าแบบอื่น ๆ
2) แบบสถิติแบบแท่ง ใช้แท่งแทนข้อมูลแต่ละชนิด ซึ่งขนาดของแท่งจะต้อง เท่ากัน ใช้ได้ดีในกรณีที่มีข้อมูลไม่มาก เป็นแบบที่ทำง่ายและอ่านง่าย
3) แผนสถิติแบบวงกลม แสดงข้อมูลทั้งหมดภายในวงกลม และแบ่งส่วนด้วยเส้นรัศมีตามปริมาณของข้อมูล ใช้เปรียบเทียบความแตกต่างหรือความสัมพันธ์ของข้อมูล ทั้งหมดในเวลาเดียวกันแต่ไม่ละเอียด
4) แผนสถิติแบบรูปภาพ ใช้รูปภาพหรือสัญลักษณ์แบบข้อมูล เร้าความสนใจดี แต่ไม่ละเอียด เพราะจะบอกข้อมูลโดยประมาณ
5) แผนสถิติแบบพื้นที่ ใช้พื้นที่ของรูปทรงเรขาคณิตต่าง ๆ เช่น สี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม วงกลม เพื่อใช้เปรียบเทียบข้อมูล 2-3 อย่าง ซึ่งผู้ดูจะเข้าใจได้เร็ว แต่มีรายละเอียดน้อยมาก

4.2.2 แผนภาพ (Diagram) ใช้แสดงความสัมพันธ์ของส่วนต่าง ๆ หรือกระบวนการทำงานมีลักษณะเป็นนามธรรม เพราะมีรายละเอียดที่สำคัญ เหมาะใช้กับผู้เรียนที่เรียนในระดับสูงกว่าประถมศึกษา แบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ
1) แผนภาพแบบลายเส้น
2) แผนภาพแบบรูปภาพ
3) แผนภาพแบบผสม

4.2.3 แผนภูมิ (Chart) เป็นวัสดุที่ใช้แสดงความสัมพันธ์ของข้อเท็จจริง ข้อมูลความรู้ เพื่อแสดงการเปรียบเทียบ พัฒนาการ กระบวนการ การจำแนก การวิเคราะห์ โดยมีรูปภาพ สัญลักษณ์ คำ หรือ ข้อความ ประกอบ แบ่งออกเป็น 8 ชนิดด้วยกันคือ
1) แผนภูมิแบบต้นไม้ : แสดงให้เห็นว่าสิ่งหนึ่งแยกออกได้เป็นหลายสิ่ง
2) แผนภูมิแบบสายธาร : กลับกับแบบต้นไม้ แสดงให้เห็นว่าสิ่งหนึ่งเกิดจาก หลายสิ่งมารวมกัน
3) แผนภูมิแบบต่อเนื่อง : แสดงลำดับขั้นการทำงาน การทำกิจกรรมตามลำดับ
4) แผนภูมิแบบองค์การ : แสดงความสัมพันธ์ของหน่วยงานภายในองค์การ หรือ ระหว่างองค์กร มักนิยมใช้เส้นโยงระหว่าง กรอบสี่เหลี่ยม
5) แผนภูมิแบบเปรียบเทียบ: เปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างระหว่างแนวคิด รูปร่างลักษณะ ขนาดของสิ่งต่าง ๆ
6) แผนภูมิแบบตาราง : แสดงความสัมพันธ์ระหว่างเวลากับเหตุการณ์
7) แผนภูมิแบบวิวัฒนาการ : แสดงการเปลี่ยนแปลงของสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เป็นไป ตามเวลา
8) แผนภูมิแบบอธิบายภาพ : มีลักษณะเป็นรูปภาพ และมีลูกศรชี้ส่วนต่าง ๆ ที่มี ตัวอักษรกำกับเพื่อให้ทราบว่าเป็นอะไร

4.2.4 ภาพโฆษณา (Poster) ใช้เพื่อประกาศ หรือจูงใจให้ผู้ดูกระทำตามหรือไม่ให้ กระทำตาม ภาพโฆษณาที่ดี จะต้องทำให้ผู้ดูจำง่ายและประทับใจอย่างรวดเร็ว การผลิตภาพโฆษณาจึงควรคำนึงถึง
- การออกแบบให้มีลักษณะเด่น เร้าความสนใจ
- ใช้ข้อความสั้น ๆ และภาพประกอบเป็นแบบง่าย ๆ
- สีสะดุดตา ใช้สีตัดกัน แต่ไม่ควรเกิน 3 สี
- ควรมีขนาดใหญ่
- แสดงจุดมุ่งหมายเพียงอย่างเดียว

4.2.5 การ์ตูน (Cartoon) เป็นทัศนวัสดุ ที่มีลักษณะเป็นภาพเขียนด้วยลายเส้น แสดง เฉพาะลักษณะเด่น ๆ เพื่อเลียนแบบกริยาท่าทางของมนุษย์ สัตว์ หรือสิ่งของ เพื่อถ่ายทอดเรื่องราว ความคิดเห็น อารมณ์ หรือ ทัศนะของผู้เรียนไปยังตัวผู้ดูสามารถนำมาใช้ในการศึกษา การโฆษณา และความบันเทิงได้

4.2.6 ภาพวาด (Drawing) เป็นการวาด หรือเขียน อาจเป็นภาพสี หรือภาพขาว-ดำ

4.2.7 ภาพถ่าย (Photograph) เป็นภาพที่ถ่ายจากของจริง สถานที่จริง โดยใช้กล้องถ่ายภาพแบบต่าง ๆ ซึ่งมีทั้งกล้องถ่ายภาพที่ใช้ฟิล์ม และผ่านกระบวนการล้าง อัด ขยายภาพ หรือ ใช้คอมพิวเตอร์ พิมพ์ภาพ ที่ได้มาจากการถ่ายภาพจากล้องระบบดิจิตอล

4.2.8 ภาพพิมพ์ (Printing) เป็นภาพที่ผ่านกระบวนการพิมพ์ เช่นภาพโปสเตอร์ หนังสือ เอกสาร ปฏิทิน หรือนิตยสารต่าง ๆ

4.2.9 สัญลักษณ์ (Logo) เป็นทัศนวัสดุที่ใช้สัญลักษณ์ต่าง ๆ แสดงหรือแทนตาม ความหมายของหน่วยงาน มีทั้งที่เป็นเครื่องหมาย รูปภาพ ตัวอักษร หรือการผสมผสานกัน

หลักในการเลือกภาพประกอบการสอน

หลักเกณฑ์ในการพิจารณาควรมีลักษณะดังนี้

4.4.1 เลือกให้ตรงจุดมุ่งหมายของการสอน
4.4.2 เลือกให้เหมาะสมกับผู้ดู ได้แก่ อายุ วุฒิภาวะ ประสบการณ์ และวัฒนธรรม
4.4.3 มีลักษณะขององค์ประกอบภาพที่ดี เช่น มีจุดสนใจ มีความสมดุลย์
4.4.4 เลือกภาพที่ตรงเหมาะสมกับเนื้อหาวิชา และทันต่อเหตุการณ์
4.4.5 เลือกภาพที่ให้ความเป็นจริง แสดงลักษณะและขนาดของวัตถุให้ถูกต้องด้วย
4.4.6 เลือกภาพที่ชัดเจน และมีขนาดเหมาะสมกับผู้ดู

เทคนิคในการสร้างภาพ

วิธีการสร้างภาพเพื่อใช้ในงานกราฟิคเพื่อการเรียนการสอน มีวิธีการสร้างภาพ และได้มาหลายวิธี คือ
4.5.1 การใช้ภาพสำเร็จรูป จาก หนังสือ วารสาร สมุดภาพสำเร็จ รูปลอก ปฏิทิน ภาพชุดที่มีจำหน่ายทั่วไป

4.5.2 การลอกภาพ เป็นการคัดลอกจากต้นฉบับที่มาจากสิ่งพิมพ์ โดยใช้กระบวนการต่าง เช่น ใช้กระดาษลอกลาย ใช้กระดาษคาร์บอน หรือการใช้แผ่นฉลุ สร้างแบบ และใช้ฝุ่นสี/ชอล์ค รูปภาพ รอยปรุ เป็นต้น

4.5.3 การวาดภาพ เป็นการใช้ทักษะของผู้ผลิตงาน มากกว่าวิธีอื่น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประเภทของภาพวาด เช่น การวาดภาพเหมือนจริง การวาดลักษณะท่าทาง การวาดภาพการ์ตูน การวาดภาพสัตว์ พืช ผัก ผลไม้

4.5.4 การขยายและการย่อภาพ เป็นการสร้างภาพความต้องการและโอกาสการนำไปใช้ ซึ่งมีหลายวิธีการ เช่น
1) การใช้เครื่องฉายภาพ โดยใช้เครื่องฉายภาพทึบแสง เครื่องฉายสไลด์ เครื่องฉายภาพข้ามศีรษะ
2) การใช้เครื่องอัด-ขยายภาพ โดยใช้กับเนกาตีฟของภาพ แทนการสร้างภาพในห้องมืด (Darkroom)
3) การใช้แพนโตกราฟ ซึ่งเป็นเครื่องมือง่าย ๆ ทำด้วยโลหะ หรือ พลาสติก
4) การใช้วิธีสร้างตารางเป็นวิธีที่ง่ายและถูกที่สุด และใช้ได้ผลดี

4.5.5 การวาดจากรูปถ่าย เป็นการใช้ภาพถ่ายมาสร้างภาพใหม่ เนื่องจากภาพถ่าย อาจไม่ตรงกับจุดมุ่งหมายทั้งหมด วิธีการทำก็คือ นำภาพถ่ายมาสร้างลายเส้นเฉพาะในสิ่งที่ต้องการโดยใช้ หมึกกันน้ำ เช่น หมึกเขียนแบบ แล้วนำไปแช่น้ำยาไอโอดีนที่เจือจาง เพื่อคัดสิ่งที่ไม่ต้องการออกไป แช่น้ำสะอาด น้ำยาคงสภาพ และแช่น้ำสะอาดอีกครั้งตามลำดับ หลังจากนั้นผึ่งให้ภาพแห้งก่อนนำไปใช้ได้ตามต้องการ

การนำเสนอและการรักษารูปภาพ

วิธีการนำภาพมาใช้และการเก็บรักษารูปภาพที่เหมาะสม ขึ้นอยู่กับขนาดของภาพและจุดประสงค์ในการนำไปใช้ ซึ่งมี 3 วิธีคือ
4.6.1 การผนึกเย็น เป็นวิธีที่ใช้กับภาพขนาดเล็ก เพื่อนำไปใช้เป็นบัตรภาพ จัดป้ายนิเทศ หรือจัดประกอบนิทรรศการ หรือใช้กับภาพ 2 มิติ เช่น ภาพถ่าย รูปภาพ ภาพตัดขอบ แบ่งออกเป็น 2 วิธีคือ
1) การผนึกแห้ง มีวิธีการและขั้นตอน ดังนี้ วิธีผนึกด้วยกาวยางน้ำ เป็นการผนึกภาพที่ลงทุนไม่มาก แต่ผนึกได้สะอาดและ ง่าย และสามารถเก็บรักษาภาพได้คงทน กว่าวิธีอื่น ๆ โดยใช้กาวยางน้ำ เป็นการผนึกเย็นมี 2 วิธี คือ วัสดุสำหรับผนึก โดยสามารถหาซื้อได้ หรือผลิตเองโดยตัดยางดิบเป็นชิ้นเล็ก ๆ คนน้ำมันจนยางละลายก็จะได้กาวยางน้ำ การผนึกทำได้ทั้งผนึกแบบชั่วคราวและผนึกแบบถาวร

2) การผนึกเปียก ใช้กับภาพขนาดใหญ่ เช่น แผนที่ แผนภูมิ ภาพถ่ายขนาดใหญ่ - วัสดุที่ใช้ผนึก ขึ้นอยู่กับวัตถุที่มารองผนึก เช่น ถ้าผนึกลงบนผ้าใช้แป้ง เปียกผนึก และถ้านึกลงบนไม้ ใช้กาวลาเทกซ์แบบเจือจางผนึก (กาว+น้ำ ในอัตราส่วน 1:1)

4.6.2 การผนึกร้อน เป็นการผนึกและการเก็บรักษารูปภาพ โดยใช้เครื่องผนึกด้วยความร้อน ซึ่งสามารถทำได้โดย
1) การผนึกด้วยเยื่อกระดาษ เป็นการผนึกแบบถาวร ภาพที่นำมาผนึกต้องทนต่อความร้อน วิธีผนึกใช้เยื่อกระดาษผนึกภาพ (dry-mounttissue) แทนกาว โดยวางระหว่างภาพและกระดาษรองผนึก และใส่ในเครื่องผนึก เมื่อถูกความร้อน เยื่อนี้ก็จะละลายเชื่อมภาพ และกระดาษรองผนึก

2) การผนึกด้วยผ้าผนึก ใช้วัตถุผนึกที่เป็นผ้า (Chartex) แทนกาวมีวิธีการผนึกเช่นเดียวกับการผนึกโดยเยื่อกระดาษ

4.6.3 การเคลือบผิววัตถุ เป็นการเก็บรักษาภาพ และยังช่วยให้ภาพสวยงามเหมาะกับการนำเสนอ วิธีการ เคลือบผิวรูปภาพสามารถทำได้โดย
1) การเคลือบผิวด้วยระบบความเย็น ทำได้ 2 วิธี
- การเคลือบด้วยแผ่นสติกเกอร์ใส ใช้สติกเกอร์ใสแปะด้านหน้าของวัตถุ หรือ ภาพที่ต้องการ ใช้วิธีการเหมือนการผนึกภาพ แต่ต้องระวังฟองอากาศภายใน
- การเคลือบด้วยเรซิน เป็นเทคนิคการเคลือบผิว โดยใช้น้ำยาเคมี ที่เรียกว่าเรซิน วิธีนี้ต้องอาศัยการผนึกภาพบนแผ่นไม้ และเคลือบผิวหน้าโดยน้ำยาดังกล่าว

2) การเคลือบผิวด้วยระบบความร้อน เป็นการเคลือบรักษาภาพโดยใช้ฟิล์มซิลลามิน ซึ่งทำให้เก็บรักษารูปภาพได้นาน วิธีนี้สามารถผนึกได้ทั้งด้านเดียว หรือทั้งสองด้านก็ได้ โดยอาจนำภาพที่ผนึกโดยวิธีอื่น ๆ ข้างต้น มาเคลือบด้วยฟิล์มภายหลังก็ได